รู้จักกับระบบโครงสร้างรองรับส่วนต่อเติม

       ส่วนต่อเติม เป็นส่วนที่เราต้องใส่ใจเรื่องระบบโครงสร้างที่รองรับน้ำหนักของส่วนต่อเติมอย่างเหมาะสม ซึ่งควรสัมพันธ์กับลักษณะการใช้งานพื้นที่ส่วนต่อเติม ความพร้อมของหน้างาน (ขนาดที่ดินบริเวณส่วนต่อเติม การเข้าถึง) และงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยรูปแบบของระบบโครงสร้างที่รองรับนั้นจะมีทั้งระบบที่ไม่มีโครงสร้างใต้ดินรองรับ และ ระบบที่มีโครงสร้างใต้ดินรองรับ
 
1. ระบบที่ไม่มีโครงสร้างใต้ดินรองรับ ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบเป็นพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) เป็นการหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่หน้างาน โดยบดอัดดินและถมทรายพร้อมบดอัดให้แน่นก่อนทำการตั้งแบบและหล่อพื้น  เหมาะสำหรับการต่อเติมลานซักล้าง พื้นถนนรอบบ้าน ลานอเนกประสงค์ ที่จอดรถ หรือห้องเก็บของที่น้ำหนักโดยรวมไม่มากนัก ถึงแม้วิธีนี้จะทำได้ง่าย และช่วยประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างได้ดี แต่เนื่องจากเป็นการถ่ายน้ำหนักโครงสร้างลงสู่พื้นดินโดยตรงโดยไม่มีเสาเข็มรองรับ จึงทรุดได้ง่ายตามการยุบตัวของดิน และถ้าบดอัดดินไม่ดีแล้วดินเกิดการยุบตัวที่ไม่เท่ากันจะส่งผลให้พื้นเกิดการแตกร้าวได้ง่าย จึงควรตบอัดดินและทรายให้แน่นและมีความสม่ำเสมอกันทั้งผืน

ภาพ: พื้นคอนกรีตวางบนดิน เหมาะสำหรับการต่อเติมลานซักล้าง พื้นถนนรอบบ้าน ลานอเนกประสงค์ ที่จอดรถ 

ภาพ: ตัวอย่างการต่อเติมห้องเก็บของที่มีน้ำหนักโดยรวมไม่มาก ด้วยระบบที่ไม่มีโครงสร้างใต้ดินรองรับ

2. ระบบที่มีโครงสร้างใต้ดินรองรับ

สามารถแบ่งได้เป็น ดังนี้

2.1 ฐานเข็มแบบปูพรม เป็นการหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบนเสาเข็ม ใต้ดินที่วางกระจายตำแหน่งทั่วพื้นที่ ตามขนาดพื้นที่ของส่วนต่อเติม โดยมักจะมีระยะห่างระหว่างเสาเข็มเท่ากันทั้งในแกน X และแกน Y เพื่อรับน้ำหนักและกระจายแรงสู่ดินอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเสมือนฐานรากขนาดใหญ่หนึ่งชุดที่มีเสาเข็มรองรับหลายต้น โดยสำหรับส่วนต่อเติมมักใช้เสาเข็มสั้นที่มีความยาวไม่เกิน 6 เมตร จึงช่วยชะลอการทรุดตัว และลดการแตกร้าวที่พื้นได้ดีกว่าระบบพื้นคอนกรีตวางบนดิน เหมาะสำหรับการต่อเติมโรงจอดรถ บ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อเลี้ยงปลา พื้นที่วางถังเก็บน้ำ

*ฐานเข็มแบบปูพรมไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีถังบำบัด ถังดักไขมัน หรือถังเก็บน้ำใต้ดินฝังอยู่ก่อนแล้ว เพราะอาจทำให้เสาเข็มวางกระจายได้ไม่สม่ำเสมอ

2.2 ฐานเข็มเดี่ยว ฐานเข็มกลุ่ม

 จะประกอบด้วย เสาเข็ม ฐานราก ตอม่อ คานคอดิน และพื้น (พื้นคอนกรีตหล่อในที่ แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบพื้นโครงเบา) สำหรับฐานเข็มเดี่ยวจะมีเสาเข็มเพียงต้นเดียวต่อฐานราก ส่วนฐานเข็มกลุ่ม จะมีเสาเข็มหลายต้นต่อฐานราก โดยเสาเข็มที่ใช้สามารถเป็นได้ทั้งเสาเข็มสั้นและเสาเข็มที่ยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน พื้นที่หน้างาน และงบประมาณ (เสาเข็มสั้นจะประหยัดงบประมาณในส่วนเสาเข็มได้มากกว่าเสาเข็มยาวลึกถึงชั้นดินแข็งประมาณ 5-6 เท่า) เหมาะสำหรับงานต่อเติมครัวหลังบ้าน (ที่มักมีถังบำบัดสำเร็จรูปและถังดักไขมันฝังในดินไว้แล้ว) ระเบียงนั่งเล่นพักผ่อน อาคารตั้งแต่ 1 ชั้นขึ้นไป (ห้องนอน ห้องอเนกประสงค์) ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเลือกระบบโครงสร้างที่รองรับส่วนต่อเติมรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือควรแยกโครงสร้างส่วนต่อเติมออกจากตัวบ้านหลัก เพื่อลดปัญหาการดึงรั้งบ้านเดิมที่อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งานและสภาพพื้นดิน และควรปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารว่าด้วยเรื่องการต่อเติมหรือดัดแปลงบ้านเพื่อให้ไม่มีปัญหาในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *